รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)




รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง การปรับเขตพื้นที่จังหวัด และการขยายระยะเวลามาตรการควบคุม

วันที่ 3 สิงหาคม 2564


ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 30 ปรับจังหวัดในเขตพื้นที่สถานการณ์ต่าง ๆ และขยายระยะเวลามาตรการควบคุม เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2564 โดยมีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติดังนี้ 

1. ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

สำหรับจังหวัดที่ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ใหม่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมการบุคลากร สถานที่ พร้อมทั้งแจ้งให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมดำเนินการตามมาตรการ 

-   พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรีฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรีปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงครามสมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง

-   พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ยโสธร ระนอง ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ 

-   พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กระบี่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน สุราษฎร์ธานี 

2. ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มบุคคล ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ได้แก่ การจำกัดการเดินทาง การห้ามออกนอกที่พักระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 ของวันรุ่งขึ้น ข้อกำหนดการขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน มาตรการควบคุมสำหรับสถานที่ กิจการ กิจกรรมต่าง ๆ และแนวปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดขึ้นโดยไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงให้บังคับใช้ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564

3. การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และการคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค. มท.) กรุงเทพมหานคร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมข้ามจังหวัด การออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก. ศบค.) กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น ตามแนวปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 5 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 และนำกรณีตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ใช้พิจารณาเป็นกรณียกเว้น

4. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดจำนวนบุคคลตามเขตพื้นที่ดังนี้

1)  พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน

2)  พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน 

3)  พื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน

4)  พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 100 คน

5)  พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 150 คน

กิจกรรมรวมกลุ่มที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดได้ตามข้อกำหนดที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ให้ผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. กำหนดให้ ศปม. พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับ ตรวจสอบ ยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยให้เร่งปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้น

5. กิจกรรมที่ได้รับยกเว้น

กิจกรรมหรือการรวมกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 4 แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

1)  กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไป หรือออกจากที่เอกเทศตาม กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก

2)  กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข

3)  กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ ให้ความช่วยเหลือ หรืออำนวยประโยชน์ ความสะดวกแก่ประชาชน

4)  การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด

5)  กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ โดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด 

พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปกำกับตรวจสอบ หรือให้คำแนะนำการดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลได้ หากพบว่าการจัดหรือการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตักเตือน แนะนำแก้ไข หรืออาจสั่งให้ยุติการดำเนินกิจกรรมได้

6. การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินชีวิต จึงกำหนดให้สถานที่ และกิจกรรมต่อไปนี้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

1)  ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกันเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาให้สถานที่เหล่านั้น เปิดดำเนินการได้ถึง 20.00 น. โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขเงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้จัดการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในสถานที่ดังกล่าวข้างต้น จัดระบบคัดกรอง และตรวจสอบการลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าภายในพื้นที่ จัดระบบคิวกำหนดพื้นที่สำหรับรอ มีบริเวณพักคอยที่มีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม และกำกับดูแลให้มีการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

2)  กลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปรับมาตรการสำหรับพื้นที่ สถานที่ก่อสร้างต่าง ๆ สถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงาน การเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ตามข้อ 2 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ที่เคยมีคำสั่งให้ปิด หยุดดำเนินการ หรือผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข โดยให้เปิดหรือ ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผล ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด รวมถึงมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่หรือสถานที่นั้น ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และเมื่อมีการระบาดต้องปรับระดับมาตรการ ทั้งนี้ยังคงให้ดำเนินกิจการภายใต้มาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) โดยมีการจัดการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการการแพทย์ การสาธารณสุข รวมทั้งจัด เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับกับพื้นที่ สถานที่ หรือกิจกรรมที่มีประกาศหรือคำสั่งปิดหรือห้ามดำเนินกิจกรรมเนื่องจากพบการแพร่ระบาดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณี

7. การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการเดินทางของกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ให้ ศบค. มท. ศปม. กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล พิจารณาผ่อนคลายการคัดกรองการเดินทางเข้าออกของแรงงานก่อสร้างที่เดินทางข้ามจังหวัด ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลาย มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างตามข้อ 6 (2) ของข้อกำหนดฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ด้วย

8. มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วประเทศ

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณานำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

9. มาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานทั่วประเทศ

ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อดำเนินการตรวจสอบ กำกับดูแล ประเมินผลการปฏิบัติ ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบกิจการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการ โรงงาน ในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติด้านสาธารณสุขให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ราชการกำหนด ทั้งนี้ ยังคงให้สถานประกอบกิจการหรือโรงงาน ดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด มีมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) โดยมีการจัดการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการการแพทย์ การสาธารณสุข รวมทั้งจัดเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และ แนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยให้กำกับ ติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป

10. การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด

ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือสั่งให้งดทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ส่วนกลางกำหนดได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. หรือ ศบค. มท. กำหนด

11. การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการในทุก 14 วัน 


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป


สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด

อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/173/T_0001.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/173/T_0008.PDF


###


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 

https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th







แชร์บทความ