รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับคงที่ต่อเนื่อง และจำนวนผู้ได้รับการรักษาหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายสาธารณสุขและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รายงานผลการประเมินสถานการณ์ว่าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนค่อนข้างมีประสบการณ์และความพร้อม จึงสามารถปรับมาตรการโดยผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้มีความเหมาะสม และกำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็นตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

ยังคงบังคับใช้พื้นที่สถานการณ์ตามเดิม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2. ปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ห้ามออกนอกที่พักระหว่างเวลา 22.00 ถึง 04.00 ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ที่ได้ประกาศหรืออนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงบังคับใช้ต่อไป

3. การขยายเวลาบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

มาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้า ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค การเดินทางข้ามจังหวัด การขนส่งสาธารณะ และการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการ ยังคงให้ดำเนินการตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงบังคับใช้ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2564

4. การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดูแล ติดตามการดำเนินงานของสถานที่ กิจการ กิจกรรม ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเตรียมสถานที่ ตรวจสอบระบบหมุนเวียนระบายอากาศ กำกับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไข การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ ดังนี้

1) โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารหรือสถานที่จัดการเรียนการสอน การสอบ ฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค และความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็ก เปิดดำเนินการได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

           3) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถบริโภคในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ หากเป็นในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนไม่เกิน 50% ของที่นั่งปกติ หากเป็นพื้นที่เปิด เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนไม่เกิน 75% ของที่นั่งปกติร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มสามารถมีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นได้ โดยมีผู้แสดงไม่เกิน 5 คน มีการเว้นระยะห่างและงดการสัมผัสผู้ใช้บริการ นักดนตรีสวมหน้ากากตลอดเวลา นักร้อง นักแสดง หรือนักดนตรีที่ใช้เครื่องเป่าอาจถอดหน้ากากได้ขณะทำการแสดงมาตรการนี้ให้บังคับใช้กับร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย

4) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัดเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค เปิดได้จนถึง 21.00 น. สำหรับร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการกลางคืน ให้ปิดบริการช่วงเวลา 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

5) ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท บ้านหนังสือ หอศิลป์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกันเปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ อาจพิจารณาตามเกณฑ์ของขนาดพื้นที่ตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือไม่เกิน 75% ของจำนวนที่สามารถรองรับได้ตามปกติ ห้ามผู้ใช้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัด และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

6) โรงภาพยนตร์ เปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50% ของจำนวนความจุที่นั่ง และจัดที่นั่งให้มีระยะห่าง โดยเว้นที่นั่งตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากาก และงดบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ระหว่างชมภาพยนตร์

7) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย ตัดแต่งผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก ให้บริการผ่านการนัดหมายได้จนถึง 21.00 น. โดยร้านสักให้บริการได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self - test Kits : ATK) (ชุดตรวจ ATK)

8) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือนวดแผนไทย ให้บริการผ่านการนัดหมาย โดยจำกัดเวลาให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมง เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด การอบตัว อบสมุนไพร อบไอน้ำยังไม่อนุญาตให้บริการ โดยให้บริการได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยชุดตรวจ ATK

9) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. สถานที่ออกกำลังกาย ยิม หรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. งดบริการอบไอน้ำ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

          10) การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อแข่งขัน ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประเภทในร่มจัดแข่งได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม ประเภทกลางแจ้งจัดแข่งได้โดยมีผู้ชมไม่เกิน 25% ของความจุสนาม และผู้เข้าชมต้องแสดงหลักฐานได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยชุดตรวจ ATK สำหรับการใช้สถานที่เพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ เข้าใช้ได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม และต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

         11) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดำเนินการได้จนถึง 21.00 น. ยกเว้นกิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน

            ก. โรงเรียนและสถาบันกวดวิชาเปิดดำเนินการได้โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุญาตตาม สภาพพื้นที่และความเหมาะสมของสถานการณ์โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

            ข. โรงภาพยนตร์ เปิดดำเนินการโดยปฏิบัติตามข้อ 6)

            ค. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านทำเล็บ ร้านสัก เปิดดำเนินการโดยปฏิบัติตามข้อ 7) ร้านเสริมสวย ตัดแต่งผม ให้บริการผ่านการนัดหมาย จำกัดเวลาให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมง

            ง. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือนวดแผนไทย เปิดดำเนินการโดยปฏิบัติตามข้อ 8)

            จ. สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดดำเนินการโดยปฏิบัติตาม ข้อ 9) และ ข้อ 10)

            ฉ. สวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยง หรือการจัดประชุม ยังคงปิดดำเนินการ

         12) การถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกัน สามารถปฏิบัติได้ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

         13) โรงมหรสพ โรงละคร ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาความเหมาะสมให้มีการจัดแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงอื่นที่ลักษณะคล้ายกันได้ไม่เกิน 21.00 น. จำกัดจำนวนผู้แสดงและเจ้าหน้าที่รวมไม่เกิน 50 คน และสวมหน้ากากตลอดเวลา อนุโลมให้ขณะแสดงบนเวทีที่อาจถอดหน้ากากได้ โดยงดติดต่อสัมผัสระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

กรุงเทพมหานครยังมีการปิดสถานที่ และมีข้อปฏิบัติเฉพาะสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ดังนี้

                  1. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ยังคงให้ปิดสถานที่ 

                  2. สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ให้เปิดได้เฉพาะการจัดกิจกรรมหรืองานตามประเพณี เช่นงานหมั้น โดยไม่มีการจัดเลี้ยงอาหาร 

                  3. โรงแรม ให้งดกิจกรรมจัดประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง โดยสามารถให้บริการจัดกิจกรรมหรืองานตามประเพณี เช่น งานหมั้น โดยไม่มีการจัดเลี้ยงอาหาร

5. การเตรียมเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในบางพื้นที่ และจะดำเนินการต่อเนื่องในอนาคต โดยพิจารณาความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ขึ้นเพื่อการบังคับใช้เป็นการเฉพาะ
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาความเหมาะสม พร้อมเสนอมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ ในการเสนอให้พื้นที่รับผิดชอบเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทยกำหนด ก่อนเสนอศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก. ศบค.) เพื่อเสนอ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

อ้างอิง

###

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 
ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 


แชร์บทความ