23 กุมภาพันธ์ 2566: คณะผู้แทนประเทศไทยจัดงาน Thailand Symposia เพื่อนำเสนอความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand แก่สมาชิกจากองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau International des Expositions หรือ BIE) และคณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิก BIE ที่ปาวิญ็องกาเบรียล - โปเต็ลเอชาโบต์ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส
Thailand Symposia ครั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของการจัดงาน ภายใต้แนวคิดหลัก “Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity” เป็นการประกาศความพร้อมของภูเก็ตและประเทศไทยผ่านปฏิญญาภูเก็ต (Phuket Declaration) ในการเป็นเวทีโลกที่พร้อมเดินหน้าเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสนับสนุนประชาคมโลกในการสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล สร้างมรดกและอนาคตที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่มีความสุข รุ่งเรืองและทัดเทียม นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอกรณีศึกษาด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความตระหนักของชาวไทยและยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ผู้นำคณะประเทศไทย ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการเสนอตัวรับสิทธิการจัดงานและประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ว่าประเทศไทยเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อเป็นเวทีโลก เปิดโอกาสให้ทุกประเทศแลกเปลี่ยนความเห็น และ ร่วมมือกันหาทางออก เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติและโลกใบนี้ และสร้างความมั่นใจต่อที่ประชุมเนื่องจากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่องานนี้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทยได้แสดงจุดยืนร่วมกันสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงาน
นายชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ผู้กำกับภาพและผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์วาฬไทยและเว็บไซต์ ThaiWhales ได้ร่วมเป็นวิทยากรของ Thailand Symposia และนำเสนอการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์วาฬในทะเลอ่าวไทยและเต่ามะเฟืองในทะเลอันดามัน เพื่อเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมของประเทศไทย และได้ตอกย้ำว่าผลงานที่เกิดขึ้นคือดัชนีสำคัญที่สะท้อนความสมบูรณ์ของท้องทะเลและสภาพแวดล้อม มนุษยชาติไม่สามารถเป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่มีชีวิตรอดในโลกใบนี้ ทุกคนต้องมีจิตสำนึกห่วงใยและใช้ชีวิตกับธรรมชาติและสัตว์โลกด้วยสันติสุข รวมถึงร่วมกันหาทางออกเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสัตว์โลกเพื่ออนาคตที่สมดุลและยั่งยืน
ดร.วีรไท สันติประภพ เลขาธิการ และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงถึงปณิธานด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ผ่านโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ที่ได้ก้าวจากจุดเริ่มต้นที่เป็นโครงการปลูกพืชทดแทนยาเสพติด (Alternative Development Project) สู่โครงการพัฒนาทางเลือกที่หลากหลายในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Livelihood Development Project) โครงการดอยตุงเน้นการสร้างคนและชุมชน โดยเริ่มจากการพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ สู่การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ รายได้ที่ยั่งยืน โมเดลแม่ฟ้าหลวงไม่ได้สิ้นสุดที่ชายแดนประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังได้ไปพัฒนาพื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้าน หัวใจหลักคือให้ชุมชนสามารถดูแลพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกมูลนิธิการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวย้ำถึงแผนแม่บทเพื่อความยั่งยืนของจังหวัดและกิจกรรมสนับสนุนที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงโครงการ 3 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Individual Carbon Offset) การลดขยะอาหาร (Food before Waste) และ การเป็นจุดหมายปลายทางแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการจัดงานสิ้นสุดลงไม่ได้จำกัดแค่การพัฒนาใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างในงาน แต่คือการผ่องถ่ายปลูกฝังวิถีชีวิตยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วย พร้อมกับย้ำถึงความพร้อมว่า นอกจากมาตรฐานการบริการ จำนวนที่พัก อาหาร ธรรมชาติที่งดงาม ความสะดวกของการเดินทาง วัฒนธรรมหลากหลาย ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัด ฯลฯ แล้ว จังหวัดภูเก็ตยังได้รับงบสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก เพื่อต่อยอดความพร้อมของการเป็นเวทีโลกอีกด้วย
สำหรับการออกแบบพื้นที่งาน Expo นายยศพล บุญสม ผู้แทนทีมสถาปนิกการออกแบบโครงการ ได้แสดงความมั่นใจว่า ทุกพื้นที่ทุกรายละเอียดของงาน Expo ได้รับการออกแบบให้สอดรับกับแนวคิดหลักของงาน นั่นคือ มนุษย์ควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้อย่างสันติสุข มีความเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาพื้นที่สำหรับการจัดงานยึดแนวคิดว่า People Planet และ Prosperity คือหัวใจหลักที่จะเปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส เปลี่ยนแรงผลักดันเป็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม และเปลี่ยนความคิดเป็นการกระทำ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อนาคตที่ยั่งยืน
ในลำดับท้ายสุดของงาน Thailand Symposia นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวสรุปย้ำถึงความมุ่งมั่นและความเชื่อมั่นของประเทศไทยว่า งาน Expo 2028 Phuket Thailand จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลต่ออนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมโลก จุดเด่นอีกประการ คือ ไทยให้ความสำคัญและสร้างความเท่าเทียมกับการมีส่วนร่วมงานจากทุกประเทศทั่วโลก ไทยมีการจัดงบสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศได้สามารถเข้าร่วมงานได้อย่างทั่วถึงและครบทุกขั้นตอนของการเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ไทยยังเพิ่มการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ หรือ ตามที่แต่ละประเทศร้องขอ อาทิเช่น เวิร์คช้อปเสริมสร้างทักษะ โปรแกรมการเรียนรู้และทุนการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่ยั่งยืนและยืนยาว