ทีเส็บเผย “ธุรกิจไมซ์” เป็นวาระแห่งอาเซียนชูมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ไทยสู่ภูมิภาค

กรุงเทพฯ 27 มีนาคม 2557 - สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผย 9 ยุทธศาสตร์ผลักดันไมซ์อาเซียน บูรณาการความร่วมมือเครือข่ายภาคีไมซ์ของอาเซียนเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในโครงการ ASEAN Networking on MICE: Public and Private Partnership นำร่องผลักดันมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ไทย   สู่มาตรฐานการจัดงานระดับอาเซียน ส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางไมซ์ทั่วโลก


นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ทีเส็บ เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจไมซ์ในการเป็นส่วนสำคัญและเป็นวาระแห่งอาเซียน จึงได้พัฒนาแผนงานด้านกลยุทธ์การตลาดและการพัฒนาส่งเสริมประเทศไทยตามรายงานกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดกลุ่มนักเดินทางธุรกิจของอาเซียน (ASEAN Business Travel Marketing Strategy) ประกอบด้วย

  1. ยุทธศาสตร์ด้านการค้า
  2. ด้านการลงทุน
  3. ด้านการสร้างแบรนด์
  4. การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
  5. การกระจายงาน
  6. การส่งเสริมการเดินทางภายในภูมิภาค
  7. การส่งเสริมตลาดระยะใกล้
  8. ยุทธศาสตร์การผนึกรวมตลาด
  9. การจำแนกกลุ่มตลาด

“การพบปะกันของสมาชิกด้านไมซ์และการท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินงานตาม 9 ยุทธศาสตร์การผลักดันไมซ์ของอาเซียน โดยครั้งนี้ประเทศไทยได้ริเริ่มให้มีการหารือกันใน 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

  1. ยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุน โดยจะหารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมตลาดไมซ์อาเซียน
  2. ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการเดินทางภายในภูมิภาค โดยจะหารือถึงการร่วมดึงงานระดับโลกเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนและการส่งเสริมให้เกิดการจัดงานไมซ์หมุนเวียนในระดับภูมิภาค
  3. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างแบรนด์และการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า โดยจะหารือถึง ภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย และความเป็นผู้นำในการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ของอาเซียน

ซึ่งประเทศไทยมีแผนงานและการจัดทำมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์นำร่องแล้ว อาทิ มาตรฐานสถานที่จัดงานไทย (Thailand MICE Venue Standard) อันเป็นพื้นฐานสำหรับมาตรฐาน ASEAN MICE Venue Standard (AMVS) ที่ทีเส็บได้นำเสนอต่อที่ประชุมแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสมาชิกอาเซียนร่วมกัน พร้อมกันนี้ การประชุมเวทีการท่องเที่ยวอาเซียนก็เริ่มเจรจาหารือเรื่องการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพแรงงานวิชาชีพไมซ์ หรือ Competency Standards on MICE Tourism Professional ใน 3 ตำแหน่งงาน คือ Event Registration Specialist, On Site Event Specialist และ Liaison Officer Specialist ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศสมาขิกในการดำเนินการด้านมาตรฐานแรงงานวิชาชีพไมซ์ต่อไป โดยทั้งหมดนับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและการให้บริการสถานที่จัดงาน และเป็นการสร้างแบรนด์ร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน” นายนพรัตน์ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ จากรายงานกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดกลุ่มนักเดินทางธุรกิจของอาเซียน ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2555 อาเซียนต้อนรับนักท่องเที่ยวนานาชาติกว่า 87 ล้านคน โดยร้อยละ 46 เป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน  มีการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวในอาเซียนจะขยายตัวอย่างมากโดยมีปริมาณถึง 118.63 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 35 จากปี พ.ศ. 2555 ซึ่งหากอุตสาหกรรมไมซ์มีการพัฒนาและเติบโตระดับเดียวกันในภูมิภาคจะมีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์รวม 12 ล้านคนในปี พ.ศ. 2560  คิดเป็นรายได้สูงถึงร้อยละ 20 ของรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์มีค่าใช้จ่ายต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการท่องเที่ยว ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และจะมีการผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมไมซ์อาเซียนให้เป็นวาระสำคัญอยู่ในแผนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ในอาเซียนมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ (1) การเดินทางท่องเที่ยวเชิงธุรกิจภายในอาเซียนซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากถือเป็นตลาดขนาดใหญ่อยู่แล้ว หลังจากรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการพัฒนาเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกัน และความสะดวกในเรื่องการเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่า จะส่งผลให้นักเดินทางในอาเซียนกลายเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในกลุ่มนักเดินทางเข้าสู่อาเซียนทั้งหมด  (2) กลุ่มคู่ค้าในตลาดระยะใกล้ ทั้งตลาดเอเชียที่กำลังเติบโต เช่น จีน อินเดีย และตลาดคุณภาพจากญี่ปุ่น, ไต้หวัน, และออสเตรเลีย ล้วนแต่เป็นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพของอาเซียน จากสถิติในปีพ.ศ. 2555 มีนักเดินทางจากตลาดกลุ่มนี้เข้ามาในอาเซียนมากถึง 15.349 ล้านคน และมีศักยภาพที่จะขยายเพิ่มไปจนถึง 20 ล้านคน ภายในปีพ.ศ. 2560 (3) กลุ่มเดินทางซ้ำ (Retention and Dispersal) การพัฒนาความร่วมมือกันระหว่างคู่ค้าในอาเซียน จะเพิ่มการคงไว้ของการจัดงานและผู้เข้าชมงานในภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มวันพักค้าง เพิ่มธุรกิจจากการหมุนเวียนจัดงานในภูมิภาค และการกระจายจากเมืองหลัก ๆ ผ่านการจัดโปรแกรมนำเที่ยวก่อนและหลังงาน


สำหรับการจัดงาน ASEAN Networking on MICE: Public and Private Partnership นี้ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Eddy Krismeidi Soemawilaga เจ้าหน้าที่อาวุโส สำนักเลขาธิการอาเซียน ได้นำเสนอถึงศักยภาพ และทิศทางการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ของอาเซียน พร้อมกันนี้ยังได้จัดเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในส่วนของภาคเอกชน โดยมีผู้แทนจากสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สำนักเลขาธิการอาเซียน รวมถึงตัวแทนภาคเอกชนจากประเทศอื่น ๆ สมาชิกในกลุ่มอาเซียน เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ผู้แทนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้เยี่ยมชมศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย อาทิ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี และงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในประเทศไทย อาทิ The 35th  Bangkok International Motor Show 2014, Thai Franchise & SME Expo 2014, Thailand Bakery & Ice Cream 2014, Thailand Coffee, Tea and Drink 2014, Thailand Bike and Vehicle 2014,        The 2nd Print Tech Asia 2014 และ The 5th Office Fair 


# # #


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)


นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส

โทรศัพท์ 02-694-6095    

อีเมล arisara_t@tceb.or.th


นายพิษณุ พลายแก้ว ผู้จัดการ        

โทรศัพท์ 02-694-6000    

อีเมล pishnu_p@tceb.or.th

แชร์บทความ