19 กรกฎาคม 2560 กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ภายใต้การนำของ “จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการคนล่าสุด พร้อมเดินหน้าพัฒนาองค์กรเป็นหน่วยงานหลักด้านไมซ์ที่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อความเจริญ และกระจายรายได้ ชู 4 แนวทางยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ให้มั่นคง มุ่งเติบโตคู่ขนานกับการพัฒนาประเทศ ในตลาดที่มีศักยภาพ อย่างเท่าเทียมและเข้มแข็ง
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า “ทีเส็บ เป็นองค์กรของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมในภาคบริการด้านธุรกิจที่สำคัญซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้ครบทุกมิติ ตั้งแต่การพิจารณาความต้องการของตลาด จุดเด่นจุดด้อยของประเทศ ปัญหาภายในประเทศ และหาหนทางแก้ไข รวมถึงการพัฒนาในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับไมซ์ ซึ่งถือเป็นบทบาทของภาครัฐที่เหมาะสม”
ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศในกลุมอาเซียนนั้น มีหลายมิติ ทั้งอัตราหนี้สินต่อครัวเรือนสูง ภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน และกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น หนทางของประเทศไทยที่ต้องฝ่าอุปสรรคคือ การปรับทัพ นโยบาบขับเคลื่อนประเทศทั้ง ไทยแลนด์ 4.0 หรือ การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อสร้างความเติบโต ดังนั้น บทบาทของอุตสาหกรรมไมซ์ต้องเข้าไปช่วยพัฒนาประเทศให้มากขึ้น
จากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่าน พบว่าประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจไมซ์ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 150,000 ล้านบาท สร้างอัตราจ้างแรงงานประมาณ 164,000 ตำแหน่ง และมูลค่าภาษีจากธุรกิจประมาณ 10,500 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2559 สมาคมประชุมนานาชาติของโลก หรือ ICCA จัดอันดับไทยให้เป็นเมืองที่มีจำนวนการจัดประชุมสูงถึง 174 งาน โดยเติบโตสู่อันดับที่ 24 จากอันดับที่ 27 เมื่อปี 2558 โดย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ก็มีลำดับที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ด้านการแสดงสินค้านานาชาติ สมาคมด้านการแสดงสินค้าระดับโลก หรือ UFI ให้ ไทยติดอันดับ 1 ของอาเซียนในด้านพื้นที่ขายสุทธิของการจัดงานแสดงสินค้าตลอด 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) ด้านพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าโดยรวมนั้น ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเซีย นอกจากนี้ไทยยังมีพื้นที่รวมสำหรับจัดงานแสดงสินค้าสูงถึง 256,984 ตารางเมตร ใน 9 ศูนย์ประชุมในกรุงเทพฯ และเมืองไมซ์สำคัญ
“การสร้างไมซ์ให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ จึงเกิด 4 แนวทาง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ให้มั่นคง ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 เติบโตคู่ขนานกับการพัฒนาประเทศ เน้นการรักษาตลาดเดิม และเพิ่มตลาดใหม่ โดยนำไมซ์คู่ขนานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดึงอุตสาหกรรมไมซ์เข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของชาติ เช่น อุตสาหกรรมตามไทยแลนด์ 4.0 และเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แนวทางที่ 2 เติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ มุ่งเน้นภูมิภาคที่มีความเติบโตสูง และมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่ เขตอาเซียน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เอเชียตะวันออก/เอเชียใต้ และออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ แนวทางที่ 3 เติบโตอย่างเท่าเทียม โดยขยายโอกาสให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตอย่างเหมาะสมในจังหวัดที่มีศักยภาพ และที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น พัทยา จ.ชลบุรี และ จ.สงขลา และ แนวทางที่ 4 เติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบภายในให้ตอบโจทย์ พัฒนาองค์กรและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สามารถรรองรับการดำเนินงานในอนาคตได้ดีขึ้น”
จาก 4 แนวทางดังกล่าวได้มีการกำหนด 5 กลยุทธ์ที่เป็น QUICK WIN เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ประกอบด้วย
กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน และยกระดับ ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำไมซ์ในเวทีโลก (Global Leader) โดยการดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการสร้างมาตรฐานสำหรับสถานที่จัดงานไมซ์ (Thailand MICE Venue Standard) / โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพจากสถาบันด้านไมซ์ระดับโลก อาทิ หลักสูตรรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้า (Certified Exhibition Management) และหลักสูตรรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานประชุม (Certified Meetings Professional) / โครงการเข้าร่วมงานเทรดโชว์ และโรดโชว์ในตลาดเป้าหมายในภูมิภาคเอเซีย ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง อย่างน้อย 8-10 งานต่อปี
กลยุทธ์ที่ 2 เป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในภาครัฐและเอกชน เน้นทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการร่วมมือกับผู้ประกอบการไมซ์ภาคเอกชน ดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย อาทิ งาน SITE Global Conference 2019 / โครงการ Thailand MICE UNITED สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อผลิตสินค้า และบริการด้านไมซ์ให้แก่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ / โครงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า และบริการอุตสาหกรรมไมซ์ (กรอ ไมซ์) อันมีพันธกิจในการศึกษา และจัดทำแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 3 กระจายเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค เน้นการชูธุรกิจไมซ์เป็นแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น อาทิ โครงการ Empowering Thailand Exhibition (EMTEX) ผลักดันอุตสาหกรรมแสดงสินค้าไทยสู่ภูมิภาคเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับเมืองไมซ์ ผ่านการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่ กระจายงาน และ ยกระดับงาน จากกรุงเทพสู่ภูมิภาค เน้นผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามไทยแลนด์ 4.0 อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงาน ในเมืองไมซ์หลักและเขตเศรษฐกิจพิเศษ / โครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลยุทธศาสตร์ของไมซ์ซิตี้และเมืองที่มีศักยภาพ (MICE City) เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ / โครงการ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติการระหว่างทีเส็บและไมซ์ซิตี้ (MICE City Summit) เพื่อระดมความเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในไมซ์ซิตี้
กลยุทธ์ที่ 4 ผลักดันใช้นวัตกรรม และ สร้าง MICE Intelligence เพื่อสนับสนุนและยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เน้นแนวคิดการสร้างงานแบบสมาร์ทไมซ์ (SMART MICE) เพิ่มความทันสมัย ยั่งยืน สร้างสรรค์ ช่วยสร้างประสบการณ์และความน่าสนใจให้แก่การจัดงานไมซ์ / โครงการ MICE Intelligence & MICE Innovation ที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ทิศทางตลาด และแผนพัฒนาธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน
กลยุทธ์ที่ 5 ผลักดันทีเส็บในฐานะองค์กรที่มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล (Good Governance) อาทิ การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ทีเส็บ เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรในฐานะหน่วยงานภาครัฐ อันแสดงให้เห็นถึงการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน
“คาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2560 จะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้าในประเทศไทยรวม 27.1 ล้านคน สร้างรายได้ 155,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,109,000 คน สามารถสร้างรายได้ประมาณ 101,000 ล้านบาท และ นักเดินทางกลุ่มโดเมสติกไมซ์ 26 ล้านคน สร้างรายได้ 54,000 ล้านบาท และยังสามารถบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนไมซ์ให้เป็นกลไกในการสร้างความเจริญ กระจายรายได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค สร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ” นายจิรุตถ์ กล่าวโดยสรุป
ทั้งนี้ในปี 2560 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญระดับนานาชาติในปีนี้อีกหลายงาน อาทิ งาน 2017 PCMA Global Professional Conference – Asia Pacific วันที่ 28 – 31 สิงหาคม ที่กรุงเทพฯ งาน UIA’s Associations Roundtable Asia-Pacific 2017 วันที่ 21 – 22 กันยายน ที่ จ.เชียงใหม่ งาน IT&CM Asia & CTW Asia Pacific 2017 วันที่ 26-28 กันยายน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานไมซ์เทรดโชว์สำคัญของภูมิภาคเอเชียที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 16 งาน SIGGRAPH Asia 2017 วันที่ 27-30 พฤศจิกายน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาและนิทรรศการด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกและอนิเมชันของกลุ่มประเทศทั่วโลก และในปี 2562 ยังมีอีก 2 งานใหญ่ที่ประเทศไทยคว้าสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดงานมาแล้ว อาทิ SITE Global Conference 2019 งานประชุมระดับโลกของหน่วยงานด้านธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
#####
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส โทรศัพท์ 02-694-6095 อีเมล arisara_t@tceb.or.th
นายการุณย์ วรารัตน์ไชย ผู้จัดการ โทรศัพท์ 02-694-6179 อีเมล karun_w@tceb.or.th
นางสาวปนิยดา มุลาลินน์ ผู้ปฏิบัติการ โทรศัพท์ 02-694-6091 อีเมล paniyada_m@tceb.or.th