ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม” ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน
ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือน กรกฎาคม 2567 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.2 นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 938,285 ล้านบาท นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวนี้ ขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า การส่งออกแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง ตามลำดับ
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนเร่งพัฒนาท่าเรือบก หรือ Dry Port ในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางในการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากระบบถนนและรางมาสู่ทางน้ำ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโครงการท่าเรือบกที่จังหวัดขอนแก่น คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ในปี 2568 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยท่าเรือบกขอนแก่นจะตั้งอยู่บริเวณบ้านโนนพยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง ใช้พื้นที่ประมาณ 1,500-2,000 ไร่ วงเงินลงทุนราว 7,000 ล้านบาท โดย กทท. เลือกขอนแก่นเนื่องจากเป็นแหล่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสปป.ลาว ส่วนโครงการท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมานั้น จะต้องรอให้การศึกษาโครงการที่ขอนแก่นแล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะเริ่มดำเนินการควบคู่กันไป แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้พื้นที่เดิมที่ตั้งอยู่ที่ ต.กุดจิก อ. สูงเนิน หรือพื้นที่ใหม่ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
2. การเข้าถึงได้สะดวกสบาย
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เร่งรัดดำเนินการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับการเดินทางและขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศ ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมือง (Master Plan) ที่แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ โดยในระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารทั้งภายในและระหว่างประเทศให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างแต่ละกลุ่มงานแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานหลัก ดังนี้
• กลุ่มงานที่ 1 ประกอบด้วย งานพัฒนาด้านทิศใต้ เช่น งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 และงานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอด รับ - ส่งผู้โดยสาร
• กลุ่มงานที่ 2 ประกอบด้วย งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ และงาน ก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ รวมไปถึงอาคาร สำนักงานสายการบิน และอาคารรับรองพิเศษ VVIP
• กลุ่มงานที่ 3 ประกอบด้วย งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน เช่น งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือพร้อมทางขับเชื่อม
• กลุ่มงานที่ 4 ประกอบด้วย งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุง อาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบิน หมายเลข 2 – 4
• กลุ่มงานที่ 5 ประกอบด้วย งานสนับสนุนโครงการพัฒนา ได้แก่ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค (ระบบไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบบริหาร)
ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการประมาณปี 2571 ซึ่งอาคารหลังใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านคน จากปัจจุบันรองรับได้ประมาณ 30 ล้านคนต่อปี รวมเป็นประมาณ 45 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 50 ล้านคนต่อปี
เครดิตภาพ : ท่าอากาศยานไทย
กรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 3245 สาย อ.ปลวกแดง-อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ระหว่าง กม.22+142 - กม.34+000 จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จ ระยะทาง 11.85 กิโลเมตร ตามแผนงานบูรณาการพัฒนาระบบทางหลวง ซึ่งช่วยให้การจราจรมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นการลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาลและส่งผลให้การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. การพัฒนาในประเทศไทย
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการได้มีมติ อนุมัติโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ) ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติและคาดว่าจะได้รับอนุมัติ เดือน ม.ค. 2568 เปิดประกวดราคาผู้รับจ้าง ระหว่างเดือน ก.พ. 68 ถึงต.ค. 2568 (ระยะเวลา 9 เดือน) เริ่มก่อสร้างโครงการฯ ในเดือน พ.ย. 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน และคาดว่าเปิดให้บริการ พ.ย. 2574
AIS ผู้ให้บริการดิจิทัล ร่วมมือกับ Oracle Alloy ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลก เปิดตัวบริการ AIS Cloud บริการคลาวด์ระดับ Hyperscale Cloud แห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ภายในประเทศด้วยมูลค่าการลงทุนมูลค่าขั้นต่ำ 8,000 ล้านบาท และอาจสูงถึง 10,000 ล้านบาท บริการนี้จะทำให้องค์กรทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ของ Oracle (OCI) ที่มีมากกว่า 100 บริการ รวมถึงความสามารถด้าน AI ที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการในการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ด้วยระบบ และบริการ Sovereign Cloud ที่มีความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลตามข้อกำหนดด้านการจัดเก็บข้อมูลของประเทศไทย รวมถึงความพร้อมในการทำระบบสำรองและกู้คืนข้อมูล (DR: Disaster Recovery) ในกรณีที่ระบบหลักเกิดความเสียหาย เพื่อให้ใช้ข้อมูลที่สำรองไว้มาทำงานต่อได้ทันที โดย AIS Cloud จะพร้อมให้บริการในไตรมาส 1 ปี 2568
เครดิตภาพ : เพจ MICE in Thailand