ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม” ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน
ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น
ก้าวสู่ปี 2567 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.1% จากการจับจ่ายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้ ความหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวได้ดีขึ้น
- ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น แม้สัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออก แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในแง่ของการกระจายรายได้ไปสู่ฐานรากได้ไม่น้อย โดยเฉพาะแรงกระเพื่อมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
-ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีการฟื้นตัว ส่วนเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เข้าไทยมาได้ค่อนข้างดีจากยอดขอรับการสนับสนุนการลงทุน (BOI) 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 22%
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 3.5% ดีขึ้นจากปี 2566 เพราะการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐจะกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง
(เพื่ออ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1106863)
กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะกลับมาอยู่ในระดับที่ดีกว่าช่วงภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีนี้ สำหรับการส่งออกปี 2567 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 1.99 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท
เพื่ออ้างอิง : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/213237
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมพิจารณา จังหวัดสระแก้ว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจากการลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดสระแก้ว ได้เร่งการก่อสร้างอาคาร CIQ (Customs Immigration and Quarantine) ด่านศุลกากร อรัญประเทศ (แห่งใหม่) ซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ให้แล้วเสร็จภายใน 400 วัน โดยหากแล้วเสร็จจะเป็นช่องทางการค้าหลักที่ใหญ่ที่สุดระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และลดความแออัดของจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกได้เป็นอย่างดี รวมถึงดูเรื่องขั้นตอนการนำสินค้าผ่านเข้า-ออก ที่ต้องการทำเป็น One Stop Service Single Window Single Form ให้ได้โดยเร็วที่สุด พร้อมย้ำว่า จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งจังหวัดยังมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งระยะทางที่ไม่ไกลจากท่าเรือแหลมฉบัง และมีสนามบินกองทัพอากาศ ซึ่งอาจพัฒนาให้เป็นกึ่งพาณิชย์และสามารถมีการขนส่งสินค้าและประชาชนได้ ดังนั้น จังหวัดสระแก้ว จึงมีความพร้อมที่จะเสนอตัวเข้ามาเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและเข้ามาอยู่ที่นี่ได้
2. การเข้าถึงได้สะดวกสบาย
ท่าอากาศยานไทยมีแผนทุ่มงบอีกราว 9.6-9.7 หมื่นล้านบาท ในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2572) เพื่อเดินหน้าพัฒนา 6 สนามบิน เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นประตูหลักในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติแผนการลงทุนแล้ว แต่มีการชะลอแผนในช่วงเกิดโควิด ดังนี้
1. ขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ
2. ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3
3. ขยายสนามบินภูเก็ต เฟส 2
4. พัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1
5. พัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เฟส 1
6. ทบทวนแผนแม่บทสนามบินหาดใหญ่
ขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานไทย ยังวางแผนเผื่อกรณีที่สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ มีการพัฒนาจนเต็มศักยภาพ โดยมีแผนจะสร้าง 2 สนามบินใหม่ ได้แก่ ท่าอากาศยานอันดามัน (พังงา) รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน ลงทุนราว 7 หมื่นล้านบาท และท่าอากาศยานล้านนา (ลำพูน) ลงทุนอีกราว 7 หมื่นล้านบาท โดยทางท่าอากาศยานไทยจะเร่งดำเนินการหาและจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุน คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาประมาณปลายปีนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาแผนประมาณ 8 เดือ
เครดิต : ท่าอากาศยานไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง 2 ขอนแก่น-หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งทางราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ และแผนการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการระบบขนส่งทางราง เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว
การดำเนินโครงการมีแผนในการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1 เมตร เพิ่มขึ้น 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 14 สถานี (ก่อสร้างสถานีใหม่ 6 สถานี ปรับปรุงสถานีเดิม 8 สถานี) โดยได้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 31 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 53 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ โดยโครงการมีแผนงานจะเปิดให้บริการประชาชนในปี 2570 ซึ่งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารมีจำนวนประมาณ 3,500 คนต่อวันในปี 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 คนต่อวันในปี 2599 และมีปริมาณการขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงนี้จำนวนประมาณ 3.50 ล้านตันต่อปีในปี 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันต่อปี ในปี 2599
3. การพัฒนาในประเทศไทย
รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดให้บริการครบทั้ง 30 สถานีตลอดเส้นทางแคราย-มีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมง ต่อทิศทางด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวน รวมทั้งสิ้น 42 ขบวน รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีจุดเด่นในการทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ทำให้การเดินทางในเมืองให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยผ่านจุดสำคัญ ดังนี้
- ห้างสรรพสินค้า: Esplanade Cineplex งามวงศ์วาน-แคราย, เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล รามอินทรา, Fashion Island & The Promenade, ไอทีสแควร์ เป็นต้น
- โรงพยาบาล: นพรัตน์ราชธานี, สินแพทย์ เป็นต้น
- สถานที่ท่องเที่ยว: สยามอะเมซิ่งพาร์ค, อุทยานมกุฏรมยสราญ, สวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉาน, วัดพระศรีมหาธาตุ
ทั้งนี้ ในอนาคตรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีเมืองทองธานี (PK10) จะมีส่วนต่อขยายเชื่อมไปยังสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และ สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) คาดว่าจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป
บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) ได้พัฒนาโครงการศูนย์รวมแห่งเมตาเวิร์สทรานส์ลูเซีย ภายใต้คอนเซปต์ “Infinite Universe of Interconnected Metaverses” เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกันที่ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาสร้าง Virtual World ของตัวเองได้และสามารถมอบคุณค่า 3 ประการให้แก่ผู้ใช้งานคือ 1. สร้างผลลัพธ์เชิงบวก เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ ได้ รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม 2. การใช้งานมีความปลอดภัย ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลในเรื่องของข้อมูลรั่วไหล 3. การเชื่อมประสบการณ์ระหว่างโลกจริง และโลกเสมือน
การสร้างธุรกิจในโลกเมตาเวิร์สเกิดจากการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในโลกดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงกับโลกจริงได้อย่างราบรื่น โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบประสบการณ์ และกิจกรรมที่แตกต่าง เพื่อให้สามารถดึงผู้คนเข้ามายังโลกเสมือนจริงแห่งนี้ ซึ่งผู้ประกอบการไมซ์สามารถปรับรูปแบบการจัดงาน การประชุม โดยนำเทคโนโลยีเสมือนเข้ามาประยุกต์ใช้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการดึงผู้เข้าร่วมงานให้สามารถร่วมงานได้จากทุกที่ทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วม ตลอดจนสามารถมอบความสุขให้แก่ผู้ร่วมงานได้
เครดิต : Translucia