เลือกประเทศไทย

(OCT22) ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย

editor image

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด  เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม”  ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน

1. พื้นที่ยุทธศาสตร์  (Strategic Location) 

ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น

  •   การส่งออก 

การส่งออกของไทยในเดือน กรกฎาคม 2565 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วขยายตัว 4.3%  ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 11.5% มีมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์ การส่งออกไทยยังคงขยายตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ การส่งออกธัญพืชได้อย่างจำกัดของยูเครนในช่วงเวลาก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเซมิคอนดักเตอร์เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น และผลจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งมอบ แต่มีบางกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยจะมีสัญญาณดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมั่นใจว่าปี 2565 อย่างน้อยการส่งออกไทยจะขยายตัว 6-8% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 5%

editor image

   เครดิตภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย

  •   การลงทุนในประเทศ 

คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 323 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 122 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 201 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 73,635 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,308 คน  ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และสั่งซื้อสินค้าและบริการ

ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย สิงคโปร์ 58 ราย สหรัฐอเมริกา 40 ราย ฮ่องกง 26 รายและ จีน 14 ราย คาดว่าจนถึงปลายปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ รวมถึง เพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

  •   การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงกันยายน – ธันวาคม 2565

รัฐบาลให้ความสำคัญกับ

  1. การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้า เคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า
  2. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 
  3. การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 
  4. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า 
  5. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง
  6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 
  7. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 
  8. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

2. การเข้าถึงได้สะดวก  (Easy Access)

ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED)

หลังประเทศไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับเลือกจากประเทศอาเซียน ให้เป็นที่ตั้งของ สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED)  ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงทีมสาธารณสุขไทยที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในการจัดตั้ง ACPHEED ได้สำเร็จ สำหรับศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ จะมีภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างขีดสมรรถนะของภูมิภาคอาเซียนในการเตรียมความพร้อม การป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้ต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ในสถานะที่เป็นศูนย์ความเป็นเลิศและเป็นศูนย์รวมทรัพยากรบุคคลของภูมิภาค ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย  คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่ให้การสนับสนุนในการคัดกรองและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การตรวจรักษา และการควบคุมโรคระบาดในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว นักเดินทางไมซ์ และผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศได้

  •   สายการบินสัญชาติไทยเปิดเส้นทางบินและเพิ่มเที่ยวบิน 

บรรดาสายการบินสัญชาติไทยเปิดเส้นทางบินและเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อเพิ่มยอดผู้โดยสารและรายได้ ต้อนรับบรรยากาศการเดินทางทั้งตลาด “ต่างชาติเที่ยวไทย” และ “ไทยเที่ยวต่างประเทศ” ฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 

  • ไทยแอร์เอเชีย เตรียมเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศ ในเดือนตุลาคม 2565 ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เส้นทางสู่ประเทศเวียดนาม คือ เชียงใหม่-ฮานอย เชียงใหม่--ดานัง และเส้นทาง กรุงเทพฯ-คยา ประเทศอินเดีย สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2565 จะเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ-กาฐมาณฑุ เมืองหลวงประเทศเนปาล กับเส้นทาง กรุงเทพฯ-ธากา เมืองหลวงประเทศบังกลาเทศะ
  • ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในเดือนตุลาคม 2565 เตรียมเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - นิวเดลี ประเทศอินเดีย และเดือนพฤศจิกายน 2565 จะเปิด 2 เส้นทางบินใหม่ สู่เมืองใหญ่ 2 อันดับแรกของประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ - ซิดนีย์ และเส้นทาง กรุงเทพฯ - เมลเบิร์น นอกจากนี้จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้มากขึ้น
  • ไทยเวียตเจ็ท เริ่มให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศเส้นทางใหม่ กรุงเทพฯ - ฟู้โกว๊ก ประเทศเวียดนาม ในเดือนตุลาคม 2565 และจะปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบิน กรุงเทพฯ - ฟูกุโอกะ เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และจะปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบิน กรุงเทพฯ - ไทเป เป็น 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 
  • บางกอกแอร์เวย์ส ในปลายปี 2565 เตรียมกลับมาเปิดให้บริการเส้นทาง สมุย-กระบี่ และต้นปี 2566 จะเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในเส้นทาง สมุย-ฮ่องกง และมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินในอนาคต สมุย-เฉิงตู และ สมุย-ฉงชิ่ง เพื่อรองรับดีมานด์การเดินทางของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนให้สามารถบินตรงสู่เกาะสมุย
  • นกแอร์ ได้เพิ่มความถี่เที่ยวบิน เส้นทาง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพิ่มเป็น 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเตรียมเพิ่มความถี่เส้นทาง กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เพิ่มจาก 1 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนเส้นทางอื่นๆ เช่น ประเทศอินเดีย นกแอร์ยังรอผลการอนุมัติเพื่อทำการบินสู่หลายเส้นทาง
  •   โครงการสำคัญ (Mega Project)

โปรเจ็กต์ “แลนด์บริดจ์” โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ และเป็นประตูเศรษฐกิจของโลก เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน โดยไทยจะใช้ต้นแบบท่าเรือ Tuas ของประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าหมายในการเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 65 ล้านทีอียู ในระยะ 20 ปี หรือปี 2585 ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีข้อได้เปรียบในการเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ ตามนโยบายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล คาดว่า ในปี 2566 จะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ส่วนการเริ่มดำเนินการก่อสร้างนั้น จะแล้วเสร็จในปี 2573  โดยแนวทางเบื้องต้น จะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) ในต่างประเทศ ที่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะเป็นรูปแบบการบริหาร 2 ท่าเรือให้เป็นท่าเรือหนึ่งเดียวกัน (One Port Two Sides) โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าของภูมิภาค เชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ

editor image

3. การพัฒนาในประเทศไทย (New Development) 

  •   การพัฒนาด้านระบบคมนาคม

รัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งสาธารณะหลัก เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งเป็นการรองรับการขยายตัวของเมือง และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น รวมถึงรองรับการเดินทางของนักเดินทางไมซ์ที่เข้ามาจัดงานในประเทศไทยด้วย รัฐบาลได้เร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด 

  1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง
  3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

การก่อสร้างทั้ง 3 โครงการมีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงาน โดยโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี มีแผนสำหรับการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ซึ่งจะเริ่มภายในเดือน ตุลาคม 2565 นี้ ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทั้งสองเส้นทางในปี 2566  ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาอย่างมากแล้วกว่า 95% โดยคาดว่าเร็วที่สุดจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2568

  •   การพัฒนาด้านเทคโนโลยี 

เอสซีจี พัฒนานวัตกรรมระบบ “SCG Bi-ion ระบบกำจัดเชื้อโรคในอากาศ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานอากาศปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ด้วยการทำงานของระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ มีการปล่อยอนุภาคประจุบวกและลบ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ รวมถึงช่วยลดฝุ่น PM10-PM2.5 ขณะเดียวกันอนุภาคที่เกิดขึ้นเป็นอนุภาคปกติที่มีในธรรมชาติ จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง ทำให้มั่นใจในคุณภาพอากาศที่สะอาดปลอดภัยยิ่งกว่า

ในปัจจุบัน มีหลายโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนติดตั้ง ระบบ SCG Bi-ion เพื่อร่วมสร้างพื้นที่อากาศปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน ทั้งในโรงพยาบาล ออฟฟิศสำนักงาน โรงแรม โรงเรียน และร้านอาหาร ภายใต้แนวคิดในแคมเปญ #CleanAirMatters เอสซีจีมีความตั้งใจในการกระตุ้นเตือนสังคมต่อเนื่อง ถึงการให้ความสำคัญกับอากาศที่สะอาด ปลอดภัย และคนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับคุณภาพอากาศที่ดี นวัตกรรมนี้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา Intertek/ETL (UL 867) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไมซ์ที่ต้องการสร้างความมั่นใจเพิ่มเติมให้กับผู้เข้าใช้บริการ

editor image

  •   การพัฒนาด้านบุคลากร 

คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC NETs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง Demand Driven Education ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ต้องการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ 12 S Curve ด้วยการสร้างความร่วมมือกับ 10 สถาบันการศึกษาในระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ หรือ Demand Driven ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างความร่วมมือแบบเข้มข้นระหว่างสถานศึกษา สถานประกอบการเอกชนและภาครัฐ ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน ด้วยองค์ความรู้จากสถานประกอบการ ได้ร่วมฝึกงาน เปิดโอกาสและประสบการณ์ทํางานจริง (Work Integrated Learning) และเอกชนร่วมสนับสนุนค่าฝึกอบรม (Co-endorsement and Co-funding) เป็นการร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมจ่าย โดยภาคเอกชนสามารถนำค่าฝึกอบรมดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่า ถือเป็นการลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่จะกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างมากมาย

เลือกประเทศไทย

  • new-experience

    ประสบการณ์ใหม่

  • various-places

    หลากหลายสถานที่

  • full-service

    บริการครบวงจร

  • thai-identity

    เอกลักษณ์ไทย

  • connecting-hub

    ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย